เมื่อพูดถึง Android App Publishing หรือการส่งแอปขึ้น Google Play ถ้าเป็นนักพัฒนาแอปแบบ Individual Developer ก็อาจจะไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากนัก เพราะพัฒนาเสร็จเมื่อไรก็เอาขึ้น Google Play ได้เลย ซึ่งแตกต่างจากแอปที่พัฒนาโดยบริษัทหรือองค์กรที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อให้แอปขึ้นไปอยู่บน Google Play ตามเวลาที่กำหนดไว้ในแผนงาน

ดังนั้นในบทความนี้จะมาแนะนำสิ่งที่ทีมพัฒนาในระดับบริษัทหรือองค์กรควรจะรู้เกี่ยวกับ Android App Publishing เพื่อช่วยให้วางแผนงานสำหรับทีมพัฒนาแอปได้อย่างเหมาะสม ลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาและอาจจะทำให้การปล่อยแอปช้ากว่ากำหนด

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้แต่ละบริษัทหรือแต่ละองค์กรจะไม่ได้สร้างแอปใหม่กันบ่อย ๆ แต่เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ดังกล่าวได้ การรู้และเตรียมตัวล่วงหน้าก็จะดีกว่าเจอปัญหาหน้างานจนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

ทำไมเราต้องวางแผนสำหรับการส่งแอปขึ้น Google Play ด้วยล่ะ?

เพราะเวลาที่ทีมพัฒนาของบริษัทหรือองค์กรมีการพัฒนาแอปตัวใหม่ มักจะวางแผนในการดำเนินงานตั้งแต่การเริ่มโปรเจคไปจนถึงการพัฒนาแอปจนเสร็จและพร้อมส่งขึ้น Google Play เท่านั้น และมักจะมองข้ามขั้นตอนการส่งแอปขึ้น Google Play กัน ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วในการพัฒนาแอปตัวใหม่ควรมี Definition of Done อยู่ที่การเปิดให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดผ่าน Google Play ได้ต่างหาก

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทีมพัฒนาในบางบริษัทหรือบางองค์กรที่ไม่ได้วางแผนและเผื่อเวลาสำหรับขั้นตอนนี้ เมื่อเจอเหตุไม่คาดฝันในระหว่างการส่งแอปขึ้น Google Play ก็อาจจะทำให้ Release App ช้ากว่าที่กำหนดไว้ใน Deadline ก็เป็นได้

ถ้าสามารถเลื่อนวันเปิดตัวแอปได้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่คงไม่ใช่เรื่องตลกซักเท่าไรสำหรับแอปที่มี​ Deadline เป็นวันจัดงานเปิดตัวแอปอย่างเป็นทางการ

จึงทำให้ขั้นตอนการส่งแอปขึ้น Google Play และรอการ Review จากทีม Google Play ควรถูกรวมไว้ในแผนงานด้วย เพื่อเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างนั้นได้

ระยะเวลาสูงสุดในการ Review ของทีม Google Play โดยปกติจะอยู่ที่ 7 วัน

ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้วระยะเวลาในการ Review ของทีม Google Play จะอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีจนถึง 2 วัน แต่อย่าลืมว่าในเงื่อนไขการให้บริการของทีม Google Play มีการระบุไว้ว่าระยะเวลาอาจจะนานมากถึง 7 วันหรือนานกว่านั้นสำหรับกรณีพิเศษ

และการ Review แอปครั้งแรกสุด (New App) มีโอกาสที่จะใช้ระยะเวลาตรวจสอบนานกว่าการปล่อยอัปเดตเวอร์ชันใหม่ (App Update) จึงไม่ควรใช้ระยะเวลาปกติจากการอัปเดตแอปอื่นที่มีอยู่มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดแผนงาน

ติดต่อกับทีม Google Play ผ่านฟอร์มและอีเมลเท่านั้น

เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ก็ตามและต้องการติดต่อกับทีม Google Play จะต้องกรอกผ่านฟอร์มที่ทาง Google Play เตรียมไว้ให้เท่านั้น ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อ และหลังจากการกรอกฟอร์มก็จะเป็นการติดต่อผ่านทางอีเมลที่อาจจะใช้ระยะเวลาหลายวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเร่งด่วนมากแค่ไหนก็ตาม

ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการเตรียมเวลาสำหรับขั้นตอนทั้งหมดเผื่อไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะการคาดหวังความช่วยเหลือด้วยการติดต่อทีมงาน Google Play มักจะจบลงด้วยการ Release ที่ล่าช้ากว่ากำหนด

เผื่อเวลาสำหรับการส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับทีม Google Play

ในกรณีที่แอปมีการทำงานที่เกี่ยวกับ Data Safety หรือ User Privacy ในประเด็นที่สำคัญ จะมีโอกาสที่ทีม Google Play ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของแอปเพิ่มเติม เช่น ส่งวีดีโอและภาพประกอบการใช้งานแอปในส่วนที่สำคัญ, หรือส่ง Test Account เพื่อให้ทีมงาน Google Play ใช้ในการเข้าไปทดสอบระบบ เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นแอปที่ไม่ได้มีการทำงานเกี่ยวกับ Data Safety หรือ User Privacy มากนัก ก็อาจจะมองข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย

สามารถตั้งค่าใน Google Play Console เพื่อควบคุมการ Publish App ตัวด้วยเองได้

โดยปกติแล้วเมื่อนักพัฒนาส่งแอปขึ้น Google Play และผ่านการ Review เรียบร้อยแล้ว แอปตัวนั้นก็จะถูก Publish บน Google Play โดยอัตโนมัติ

สำหรับแอปที่ต้องการควบคุมการ Publish ด้วยตัวเอง ก็สามารถตั้งค่าใน Google Play Console ได้ โดยเข้าไปที่ "Publishing Overview" แล้วเลือกที่ "Turn on managed publishing" ที่อยู่ในหัวข้อ Managed publishing

จากนั้นให้เลือกเป็น "Managed publishing on" แล้วกดปุ่ม "Save"

และเมื่อเข้ามาที่หน้า Publishing overview หลังจากที่แอปผ่านการ Review จากทีม Google Play แล้ว ก็จะแสดงเป็นปุ่ม Publish ให้นักพัฒนากดเมื่อถึงเวลาที่ต้องการได้

วิธีนี้จึงเหมาะกับการ Submit App เพื่อให้ทีม Google Play ทำการ Review ล่วงหน้า แต่ยังไม่ต้องการเปิดให้ผู้ใช้เข้ามาดาวน์โหลดได้จนกว่าจะถึงวันและเวลาที่กำหนดไว้ในแผนงาน

แอปไม่ต้องสมบูรณ์ก็ส่งขึ้น Google Play ไปก่อนได้

ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของการพัฒนาแอปขึ้นมาใหม่คือการรอให้แอปมีฟีเจอร์ครบมากพอในระดับที่เรียกว่า Minimum Viable Product​ (MVP) ได้ก่อน ถึงจะส่งขึ้น Google Play และรอการ Review ไม่เช่นนั้นแอปจะใช้งานได้ไม่สมบูรณ์ตามที่ตั้งใจไว้

แต่ในความเป็นจริง ทีมพัฒนาสามารถส่งแอปบางส่วนเพื่อให้ทีม Google Play ทำการ Review ก่อนได้ ถึงแม้ว่าแอปจะใช้งานได้แค่บางส่วนเท่านั้น เพราะทีม Google Play ไม่ได้พิจารณาจากจำนวนฟีเจอร์อยู่แล้ว

นั่นหมายความว่าการส่งแอปที่พัฒนาจนเสร็จไประดับหนึ่งเพื่อให้ทีมงาน Google Play ทำการ Review ก่อน จะช่วยย่นระยะเวลาที่จะต้องรอจากการ Review ในแต่ละครั้งให้น้อยลง (เพราะ App Update ใช้เวลาน้อยกว่า New App) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ทีมงาน Google Play ใช้ระยะเวลาในการ Review นานกว่าที่คาดไว้

ยกตัวอย่างเช่น แอปที่วางแผนไว้ว่าเวอร์ชันแรกจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาทั้งหมด 20 Sprint

ก็ให้เริ่มทยอยส่งแอปขึ้น Google Play ตั้งแต่ Sprint ที่ 17 หรือ 18 แต่ไม่เปิดให้ผู้ใช้ดาวน์โหลด และทำไปเรื่อย ๆ จนถึง Sprint ที่ 20 แล้วจึงเปิดให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดตามเวลาที่วางแผนไว้

สรุป

ขั้นตอนการส่งแอปขึ้น Google Play มักจะเป็นขั้นตอนที่ทีมพัฒนามักจะมองข้ามกันในตอนที่วางแผนงาน จึงมีโอกาสที่ขั้นตอนดังกล่าวจะใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้และทำให้แผนงานที่วางไว้เกิดความล่าช้าโดยไม่คาดคิด

เพราะไม่ใช่แอปทุกตัวที่จะเลื่อนวันเปิดตัวกันได้ และอาจจะส่งผลกระทบกับทีมหรือแผนกอื่น ๆ ในบริษัทหรือองค์กรด้วย ดังนั้นทางที่ดีก็ควรทำความเข้าใจและวางแผนล่วงหน้าสำหรับการส่งแอปขึ้น Google Play ไว้ตั้งแต่แรกจะดีกว่า