นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ที่รูปแบบการเขียนบทความของเจ้าของบล็อกเริ่มไปแปลงไปจากเมื่อก่อนมาก โดยจะสังเกตเห็นได้ว่า รูปแบบการอธิบายโค้ดแบบเก่าๆนั้นไม่มีแล้ว

ทำไมกันนะ?

ต้องบอกเลยว่าเมื่อก่อนนั้นเจ้าของบล็อกว่างมากพอสมควร มากพอที่จะนั่งอธิบายโค้ดลงในบทความให้เกือบแทบจะทุกบทความในตอนนั้น ซึ่งต่างจากบทความที่อื่นๆที่ค่อนข้างสรุปรวบรัดหรือไม่ละเอียดเท่าบทความที่เจ้าของบล็อกทำในตอนนั้น (ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านหลายๆคนเค้าบอกมา)

ถ้าถามว่าเสียเวลามากมั้ย? ก็มากนะ

แต่ถ้าถามว่ามันทำให้เข้าใจง่ายขึ้นมั้ย? ก็ไม่ซักเท่าไรนะ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ที่หลงเข้ามาอ่านที่ตั้งใจจะมาดูโค้ดแล้วเอาไปใช้งานนั้นไม่ค่อยสนใจคำอธิบายซักเท่าไรอยู่แล้ว (เว้นแต่ว่าต้องเอาไปตอบคำถามตอนพรีเซนต์โปรเจค) ดังนั้นการก๊อปโค้ดไปแปะแล้วรันเลยจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ และบ่อยครั้งก็มีการถามคำถามทั้งๆที่อธิบายไว้ในเนื้อหาบทความไว้แล้ว

ซึ่งจุดประสงค์หลักในการเขียนบทความของเจ้าของบล็อกคือ

“อยากผลักดันให้ Android Dev ในบ้านเราให้มีคุณภาพมากขึ้น”

เมื่อคุณภาพของนักพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลให้แอปพลิเคชันของนักพัฒนานั้นมีคุณภาพมากขึ้นนั่นเอง

อธิบายโค้ดละเอียดๆจะช่วยเพิ่มคุณภาพของนักพัฒนามั้ย?

นี่คือคำถามที่อยู่ในหัวของเจ้าของบล็อกมาตลอดเวลาที่เขียนบทความ และก็พบว่าการเขียนอธิบายโค้ดละเอียดๆนั้นไม่ได้ช่วยให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของเจ้าของบล็อกซักเท่าไร (ก็มีแหละ แต่น้อย)

เพราะการทำโค้ดตัวอย่างและอธิบายละเอียดๆนั้น ไม่ใช่สิ่งที่นักพัฒนาแอนดรอยด์ต้องการซักเท่าไร แต่กลับช่วยให้นักพัฒนาหน้าใหม่หรือนักพัฒนาจำเป็นสามารถเสร็จงานได้ไวขึ้น ทำให้บทความของเจ้าของบล็อกกลายส่วนหนึ่งของความสำเร็จ

ถ้าถามว่าเจ้าของบล็อกแฮปปี้มั้ย? บอกได้เลยว่า “ไม่ครับ”

เพราะว่าบทความของเจ้าของบล็อกไม่ได้เป็นเส้นทางเพื่อให้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จ แต่กลับเป็นแค่ความสำเร็จที่รอให้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านมาหยิบไปได้เลย ซึ่งก็คือ ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านส่วนใหญ่ ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยนอกจากการเอาเนื้อหาไปใช้งานให้ได้ผลสำเร็จทันที

เมื่อนักพัฒนาส่วนใหญ่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ แต่ไม่เข้าใจเส้นทางไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ ก็หมายความว่าไม่ได้เข้าใจในเรื่องนั้นๆเลย เมื่อไม่เข้าใจก็กลายเป็นนักพัฒนาที่ไม่มีคุณภาพ (หรือไม่คิดจะเป็นนักพัฒนาด้วยซ้ำไป) ซึ่งขัดกับจุดประสงค์ของเจ้าของบล็อกละ

แล้วทำยังไงดีล่ะ?

ถ้าเขียนบทความออกมา แต่นักพัฒนาไม่ได้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น แล้วเจ้าของบล็อกจะเขียนไปทำไมเล่าเนอะ? จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการเขียนบทความมาเรื่อยๆ

  • ลดโค้ดตัวอย่างให้น้อยลง
  • ไม่จำเป็นต้องมีโปรเจคตัวอย่างให้ดู ถ้าไม่จำเป็น
  • โฟกัสเฉพาะโค้ดที่สำคัญกับเนื้อหาเท่านั้น
  • ภาพประกอบช่วยสื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น (ถ้าทำออกมาดี)
  • เน้นเนื้อหาที่จำเป็นต่อนักพัฒนาแอนดรอยด์เท่านั้น (ซึ่งมีให้เขียนเยอะมากจนไม่วันหมดอยู่ดี)

ลาก่อนบทความการทำ ListView ให้กดแล้วไป นู่น นั่น นี่ ได้, ลาก่อนบทความการสร้างเกมจับคู่ (ก็ไม่เคยทำนะ ฮาๆ)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าช่วงหลังๆมานี้บทความของเจ้าของบล็อกจะเน้นเนื้อหาที่เจาะลึกสำหรับนักพัฒนาแอนดรอยด์มากขึ้น และพยายามจะเขียนให้เข้าใจง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่ามันใช้เวลานานมากกว่ารูปแบบบทความเมื่อก่อน (ทุกวันนี้บางบทความนั่งเขียนคืนนึงก็ยังไม่เสร็จ) และถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีหลายๆอย่างถาโถมเข้ามามากมาย ส่วนบทความเก่าๆก็อาจจะมีการอัพเดทบ้าง เท่าที่จะหาเวลาไปเขียนใหม่ได้ บางอันก็ลบทิ้งไปเลย

ก็หวังว่า Sleeping For Less แห่งนี้จะช่วยผลักดันนักพัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้นอย่างที่เจ้าของบล็อกตั้งใจไว้เนอะ